โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย


โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย

พญ.พักต์เพ็ญ สิริคุตต์

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีความสำคัญทั่วโลก เนื่องจากโรคนี้มีความรุนแรง มีอัตราการตายสูงมาก และปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคได้ดีพอ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าโรคพิษสุนัขบ้าได้แพร่ไปทั่วโลกถึง 150 ประเทศ ทั่วทุกทวีป ยกเว้นในแถบทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) โดยอัตราการเกิดโรคสูงที่สุดในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะประเทศอินเดีย1


ระบาดวิทยาในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยโรคพิษสุนัขบ้ายังคงเป็นโรคที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากในระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงพบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ามาตลอด2จากข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน พบจำนวนผู้ป่วย 5-26 รายต่อปี (รูป 1) หรือมีอัตราการเกิดโรค0.01-0.04 รายต่อแสนประชากร (รูป 2) (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 12สิงหาคม พ.ศ. 2561) แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวแนวโน้มของโรคจะลดลง แต่หากเปรียบเทียบในช่วง 5 ปีหลัง จะพบว่าอัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2561 นั้นเป็นข้อมูลเพียง 8 เดือน คือ 1 มกราคม ถึง 12 สิงหาคม 2561 พบผู้ป่วยสูงเท่ากับปี พ.ศ. 2560 ทั้งปี และถึงแม้โรคนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนน้อยกว่าโรคติดเชื้ออื่นๆ ในประเทศไทย แต่โรคนี้ก็ยังเป็นโรคที่มีความสำคัญ เพราะผู้ป่วยทั้งหมดที่รายงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบันนั้นเสียชีวิตทุกราย3

Picture1.png

รูป 1จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2561 (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561)



Picture2.png

รูป 2อัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยต่อแสนประชากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2561 (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561)


จากแนวโน้มการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในคนสูงขึ้นในช่วง 5ปีที่ผ่านมานั้นสอดคล้องกับข้อมูลที่พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าที่สูงขึ้นในสัตว์ จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ผลการเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อตรวจหาการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน พบว่า แนวโน้มการตรวจพบการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์สูงขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละปี โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2561 พบสิ่งส่งตรวจที่มีการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงถึง1,189 สิ่งส่งตรวจ จากทั้งหมด 7,434 สิ่งส่งตรวจ คิดเป็นร้อยละ 15.9 ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมาที่พบเพียงร้อยละ2.4-10.0 (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561) (รูป 3)4


Picture3.png

รูป 3จำนวนสิ่งส่งตรวจจากสัตว์ในประเทศไทยที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมด และสิ่งส่งตรวจจากสัตว์ที่ได้ผลบวกต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2561 (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561)


สำหรับจังหวัดที่ควรได้รับการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคพิษสุนัขบ้าเป็นพิเศษ ได้แก่ จังหวัดที่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า และจังหวัดที่กรมปศุสัตว์ประกาศเป็นเขตโรคพิษสุนัขบ้าระบาดในสัตว์ จากข้อมูลปี พ.ศ. 2561 (ณ ข้อมูลถึงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2561) พบผู้ป่วยโรคนี้ทั้งหมด 11 จังหวัด ได้แก่ ระยองประจวบคีรีขันธ์ กาฬสินธุ์ หนองคาย บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ยโสธร พัทลุง สงขลา และตรัง3ส่วนจังหวัดที่กรมปศุสัตว์ประกาศเป็นเขตระบาดในสัตว์ (ณ ข้อมูลวันที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2561) มีทั้งหมด 28 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว นครราชสีมา ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด หนองคาย เชียงราย พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช พัทลุง สรุาษฎร์ธานี และสงขลา5


แนวทางการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ.25616

ในปี พ.ศ. 2561 องค์การอนามัยโลกได้มีการปรับปรุงแนวทางการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าใหม่ ซึ่งแนวทางนี้ มีความแตกต่างจากสูตรปัจจุบันที่แนะนำโดยกระทรวงสาธารณสุข7และสภากาชาดไทย8อย่างชัดเจน รายละเอียดดังตาราง1


คำแนะนำการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากองค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ. 25616มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

I. การป้องกันหลังสัมผัสโรค (Post-exposure prophylaxis)6มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ล้างมือด้วยสบู่ เพื่อลดปริมาณเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนบริเวณแผล

2. การให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า


· ชนิดของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก คือ วัคซีนชนิด purified cell culture and embryonated egg-based rabies vaccines (CCEEVs)ซึ่งวัคซีนชนิดดังกล่าวที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มีทั้งหมด 3 ชนิด7ดังต่อไปนี้

1. Purified chick embryo cell rabies vaccine (PCECV) - Rabipur®

2. Purified vero cell rabies vaccine (PVRV) – Verorab®, Abhayrab®

3. Chromatographically purified vero cell rabies vaccine (CPRV) - Speeda®


· วิธีการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขึ้นกับลักษณะของบาดแผล ซึ่งมีทั้งหมด 3ประเภท ดังนี้

Category I ไม่มีบาดแผล สัมผัสสัตว์ หรือถูกสัตว์เลียโดยที่ผิวหนังไม่มีบาดแผล ไม่ต้องให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในผู้สัมผัสเหล่านี้

Category II บาดแผลถลอก โดยไม่มีเลือดไหล ให้วัคซีนป้องกันโรค ไม่ต้องให้ rabies immunoglobulin (RIG)

Category III บาดแผลที่มีเลือดออกชัดเจน ให้วัคซีนป้องกันโรค ร่วมกับการให้ RIG


· วิธีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก มีทั้งหมด 3สูตร ได้แก่

1. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(intramuscular, IM) 4 เข็ม คือ ครั้งละ 1เข็ม ในวันที่ 0, 3, 7, 14 หรือ 28

2. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(IM) 4 เข็ม คือ ครั้งละ 2เข็ม ในวันที่0และ ครั้งละ 1 เข็ม ในวันที่ 7และ21

3. ฉีดใต้ผิวหนัง(intradermal, ID) ครั้งละ2 จุด ในวันที่ 0, 3 และ 7


· กรณีที่ถูกสัตว์กัดซ้ำหลังฉีดวัคซีนครบ พิจารณาการให้วัคซีนได้เป็น2กรณี ดังต่อไปนี้ โดยที่ทั้งสองกรณีไม่ต้องฉีด RIG ทั้งบาดแผลระดับ category II และ III

1. ถูกกัดซ้ำภายใน3 เดือน หลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

2. ถูกกัดซ้ำนานมากกว่า3เดือน หลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้วัคซีนเข็มกระตุ้นตามสูตรดังต่อไปนี้

- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) 2 เข็ม คือ ครั้งละ 1เข็ม ในวันที่ 0 และ3

- ฉีดใต้ผิวหนัง (ID) ครั้งละ 4 จุด ในวันที่ 0

- ฉีดใต้ผิวหนัง (ID) ครั้งละ 1 จุด ในวันที่ 0 และ 3


II. การให้ Rabies immunoglobulin (RIG)6

· ข้อบ่งชี้ในการฉีด RIGได้แก่

1. บาดแผลระดับ category III

2.บาดแผลบริเวณ ศีรษะ คอ และมือ

3. ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง (severe immunodeficiency) กรณีผู้ป่วยโรค HIV ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ หรือไม่ได้รับยาต้านไวรัส แนะนำให้ RIGทั้งในบาดแผลแบบ category II และ III

4. ผู้ที่ถูกกัดในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

5. ผู้ที่ถูกค้างคาวกัด หรือสัมผัสโรคจากค้างคาว


· วิธีการให้ RIG

- ขนาดยา คือ equine derived RIG (ERIG) 40 IU/kg/dose และ human derived RIG (HRIG) 20 IU/kg/dose โดยทั้งหมดฉีดรอบแผล โดยไม่แนะนำให้ใช้ยาที่เหลือฉีดเข้ากล้าม

- ไม่ต้องทำการทดสอบผิวหนังก่อนให้ ERIG เพราะการทดสอบผิวหนังนี้ไม่สามารถทำนายการเกิดผลข้างเคียงหลังฉีด ERIGได้


III. การป้องกันก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis)6

องค์การอนามัยโลกแนะนำวิธีการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนสัมผัสโรค ทั้งหมด 2สูตร ดังต่อไปนี้

1. ฉีดใต้ผิวหนัง(ID) ครั้งละ 2 จุด ในวันที่ 0 และ 7

2. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ(IM) 1 เข็ม ในวันที่ 0 และ 7


ตาราง 1ความแตกต่างระหว่างแนวทางการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ. 2561และที่แนะนำโดยกระทรวงสาธารณสุขและสภากาชาดไทย ปี พ.ศ. 2559

คำแนะนำ

องค์การอนามัยโลก6

กระทรวงสาธารณสุข7/ สภากาชาดไทย8

I. การป้องกันหลังสัมผัสโรค (Post-exposure prophylaxis): วิธีการฉีดวัคซีน

1. กรณีไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

1. IM 4 เข็ม คือ ครั้งละ 1 เข็ม ในวันที่ 0, 3,

7, 21 หรือ 28

1. IM 5 เข็ม คือ ครั้งละ 1 เข็ม ในวันที่ 0, 3, 7, 21 และ 28

2. IM 4 เข็ม คือ ครั้งละ 2 เข็มในวันที่ 0 และ 1 เข็ม ในวันที่ 7 และ 21

3. ID ครั้งละ 2 จุด ในวันที่ 0, 3 และ 7 (รวม 3 วัน)

2. ID ครั้งละ 2 จุด ในวันที่ 0, 3, 7 และ 28 (รวม 4 วัน)

2. กรณีเคยได้รับวัคซีนมาก่อน

1. ถ้าถูกกัดซ้ำภายใน 3 เดือน ไม่ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

1. ถูกกัดซ้ำภายใน 6 เดือน ให้ฉีดวัคซีน IM 1 เข็ม หรือ ID 1 จุด ในวันที่ 0

2. ถ้าถูกกัดซ้ำนานมากกว่า 3เดือน ให้วัคซีนเข็มกระตุ้น ตามสูตรดังต่อไปนี้

- IM 1 เข็มในวันที่ 0 และ 3

- ID 4 จุด ในวันที่ 0

- ID 1 จุด ในวันที่ 0 และ 3

2. ถูกกัดซ้ำนานกว่า 6 เดือนให้วัคซีน ตามสูตรดังต่อไปนี้

- IM 1 เข็ม ในวันที่ 0 และ 3

- ID 4 จุด ในวันที่ 0

- ID 1 จุด ในวันที่ 0 และ 3

(สูตรเหมือนกับ WHO)

3. การให้ RIG

ไม่ต้องทำการทดสอบผิวหนังก่อนให้ ERIG

แนะนำให้ทำการทดสอบผิวหนังก่อนให้ ERIG

II. การป้องกันก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis): วิธีการฉีดวัคซีน

1. ฉีดใต้ผิวหนัง (ID) 2 จุด ในวันที่ 0 และ 7

1. ฉีดใต้ผิวหนัง (ID)

- PVRV, CPRV, PCECV 1 จุด ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28

- PVRV 2 จุด ในวันที่ 0 และ 28

2. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) 1เข็ม ในวันที่ 0 และ 7 (ทั้งหมด 2 เข็ม)

2. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) 1 เข็ม ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28 (ทั้งหมด 3 เข็ม)

III. ข้อแนะนำอื่นๆ

การเปลี่ยนชนิดวัคซีน หรือ วิธีการฉีดวัคซีน

ได้ มีความปลอดภัย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี

ไม่แนะนำ


จะเห็นได้ว่าสำหรับประเทศไทยโรคพิษสุนัขบ้านั้นยังเป็นโรคที่ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะถึงแม้ว่าจะพบผู้ป่วยจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับโรคติดเชื้ออื่นๆ แต่โรคนี้มีมีอัตราการตายสูงมาก ในประเทศไทยยังไม่มีผู้ใดที่รอดชีวิตจากโรคนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้ามีความรุนแรงสูง แต่ก็เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้หากได้รับวัคซีนอย่างทันท่วงที


เอกสารอ้างอิง 
1. WHO. Rabies epidemiology and burden of disease.[cited 2018 August 12]. Available from: http://www.who.int/rabies/epidemiology/en/ 
2. สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข.Morbidity rate (per 100,000 population) of rabies cases from report 506 (1971 – 2006).[เข้าถึงเมื่อ12 สิงหาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=graph&ds=42 
3. สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข.Rabies สรุปสถานการณ์รายปี.[เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=old&ds=42 
4. สำนักควบคุมป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์. สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์.[เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2561]. เข้าถึงได้จากhttp://www.thairabies.net/trn/Report.aspx?f=2561-01-01&t=2561-08-12 
5. กรมปศุสัตว์. รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2561.[เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก http://www.dld.go.th/th/index.php/th/newsflash/status-report/rabies-menu/report-rabies-menu/16731-rabies-25610715-1 
6. WHO. Rabies vaccines: WHO position paper – April 2018. Wkly Epidemiol Rec. 2018 Apr 20;16(93):201-20. Available from:http://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/272371/WER9316.pdf?ua=1 
7. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้า และคำถามที่พบบ่อย.[เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก http://region5.moph.go.th/docs/RabiesThaiguideline.pdf 
8. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. แนวทางการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (พ.ศ. 2559) (QSMI Guideline for pos-exposure rabies treatment).[เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก http://saovabha.redcross.or.th/download/2559/thailand%20Rabies-Free/QsmiGuidline2016.pdf