Targeting  Zero  Healthcare – Associated  Infections : An  ambitious  goal


โดย พญ.วิมลมาลย์ พงษ์ฤทธิ์ศักดา

การติดเชื้อในโรงพยาบาลหรือ Healthcare – Associated  Infections (HAI)

เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก  มีข้อมูลโดยประมาณว่า  ผู้ป่วยกว่า 1.4 ล้านคนทั่วโลกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมี HAI เกิดขึ้นเป็นภาวะแทรกซ้อน โดยผู้ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อก็คือบุคลากรทางการแพทย์  แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป  แต่สิ่งที่เราควรตระหนักควบคู่ไปด้วยก็คือ การติดเชื้ออาจมีความรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต อันเป็นความสูญเสียที่ผู้ใกล้ชิดหรือบุคคลอันเป็นที่รักไม่อาจจะยอมรับได้

                       Association  for  Professionals  in Infection Control and Epidemiology (APIC) ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศวิสัยทัศน์ไว้ในปี ค.ศ. 2006 ว่าในปี ค.ศ. 2012 (APIC Vision 2012)  APIC  จะสนับสนุนให้มีการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลโดยมีเป้าหมายให้การติดเชื้อลดลงจนเป็นศูนย์ (Zero tolerance) ให้ได้  โดยอาศัยวิธีการสำคัญคือ  การสร้างวัฒนธรรมทั้งในระดับโรงพยาบาลและระดับโลกให้มุ่งเน้นการกำจัดการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่สามารถป้องกันได้ (preventable HAIs)  โดยก่อนหน้านี้ก็มีการตั้งเป้าให้วัณโรคและโปลิโอหมดไปจากโลกมาแล้ว  และทำได้ผลในระดับหนึ่ง  อันเป็นการแสดงว่าการตั้งเป้าให้เหลือศูนย์นั้นเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย(ambitious goals)  และมีผลในทางบวกอย่างเห็นได้ชัด  ยิ่งในสถานการณ์ที่การคิดค้นยาปฏิชีวนะใหม่ๆออกมาใช้นับวันจะลดลงไปเรื่อยๆเช่นนี้ ดังนั้น โรงพยาบาลจึงควรกำหนดให้การป้องกันการติดเชื้อเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆที่ต้องทำมากกว่าการทำเพียงแค่ควบคุมการติดเชื้อในแบบเดิมๆ การตั้งเป้าลดการติดเชื้อให้เป็นศูนย์นี้จะทำให้โรงพยาบาลไม่หยุดเพียงแค่การลดการติดเชื้อลงมาเทียบเคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ หรือสามารถเทียบเคียงกับโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จ(benchmark)ได้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

                       นอกจากการสร้างวัฒนธรรมในเรื่อง Zero target แล้ว  บุคลากรทางการแพทย์เองก็ต้องได้รับการปลูกฝังค่านิยมว่า  การไม่ปฏิบัติตามมาตรการลดการติดเชื้อถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ (unacceptable)  เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งแก่ผู้ป่วยและตนเอง ในทางตรงข้ามหากเป็นการติดเชื้อที่ไม่สามารถป้องกันได้

บุคลากรต้องไม่ได้รับการกล่าวโทษ                                 

โดยสรุปการตั้งเป้าลดการติดเชื้อให้เป็นศูนย์จะสำเร็จได้  ต้องประกอบด้วย

1.         การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะลดการติดเชื้อ HAI  จนกระทั่งหมดไป (elimination of HAIs)

2.         การคาดหวังว่าบุคลากรทางการแพทย์จะต้องปฏิบัติตามมาตรการลดการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลา (consistently , 100% of the time)

3.         สนับสนุนให้มีสิ่งแวดล้อมในการดูแลคนไข้ที่เอื้ออำนวยต่อการที่บุคลากรจะปฏิบัติได้ 100 %

4.         ผู้บริหารให้การสนับสนุนทางด้านปัจจัยพื้นฐานเพียงพอต่อการลดการติดเชื้อ

5.         มีการเรียนรู้จากความผิดพลาดอย่างโปร่งใสไม่ปิดบังและมีการอภิปรายปัญหาอย่างเปิดเผยโดยไม่มีการกล่าวโทษ

6.         มีการสอบสวนหาสาเหตุของการติดเชื้อ HAI ที่มีความรุนแรงหรือเป็นปัญหาสำคัญ

7.         มีการรายงานข้อมูลการติดเชื้อไปยังผู้ปฏิบัติซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรง(front line staff)  เพื่อกระตุ้นให้มีการปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

                       มาตรการลดการติดเชื้อที่นำมาใช้ได้ผลดีคือ 1) การดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงด้วย  “bundles”  เช่น ventilator bundle, central line bundle  2) การค้นหาทีมสหวิชาชีพที่เป็นแชมเปี้ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์และพยาบาลต้องทำงานอย่างร่วมมือกัน  3) การใช้ daily goal sheet  ในการดูแลผู้ป่วยเพื่อเป็นเครื่องมือเตือนใจ (reminder) ให้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง