ทบทวนสถานการณ์โรคไข้ดำแดง ประเทศไทย พ.ศ. 2554


ความสำคัญ


          ไข้ดำแดง (Scarlet Fever; ICD10TM – A38) เป็นรูปแบบหนึ่งของการติดเชื้อ Streptococcus group A สายพันธุ์ที่สร้าง pyrogenic exotoxin พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ทำให้เกิดอาการผื่นผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการผื่น ร่วมกับอาการติดเชื้อ Streptococcus group A เฉพาะที่ เช่น เจ็บคอ แผลติดเชื้อ และอาการผื่นตามเยื่อบุต่างๆ strawberry tongue ลักษณะผื่น มักเป็นผื่นหยาบ ลูบแล้วรู้สึกเหมือนผิวทราย พบบ่อยที่คอ หน้าอก และข้อพับต่างๆ ผื่นจะหายไปภายใน 6 – 8 วัน อาจตามด้วยอาการมือเท้าลอก ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีไข้สูง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อัตราป่วยตายมีรายงานสูงได้ถึงร้อยละ 3 รวมทั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา ได้แก่ Rheumatic fever, Acute glomerulonephritis จึง จำเป็นต้องรีบรับการรักษาด้วยาปฏิชีวนะยาในกลุ่ม penicillin หรือ Erythromycin(1)


           ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2554 ได้เกิดการระบาดของโรคไข้ดำแดงที่ประเทศฮ่องกง โดยมีรายงานผู้ป่วย 494 ราย ซึ่ง
มากกว่าจำนวนรวมผู้ป่วย พ.ศ. 2553 ทั้งปีกว่า 3 เท่า นอกจากนี้ยังดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Penicillin ถึงร้อยละ 60 และทำให้มี
ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 2 ราย(2,3)


สถานการณ์ในประเทศไทย


          ข้อมูลเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2554 มีรายงานผู้ป่วยในระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (รายงาน 506) ทั้งสิ้น 678 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต เมื่อเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังพบว่าสูงกว่าในทุกเดือน อย่างไรก็ตามไม่สูงกว่าจำนวนผู้ป่วย ในปี พ.ศ. 2553 ส่วนแนวโน้มของการเกิดโรคพบว่า จะมีรายงานโรคมากในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ส่วนใน พ.ศ. 2554 มีรายงาน เพิ่มขึ้นชัดเจนตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม

          อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของโรคไข้ดำแดงมักพบในเด็กและพบได้น้อยมากในผู้ใหญ่ ใน พ.ศ. 2554 รายงานผู้ป่วยทั้ง 678 ราย เป็นเด็กต่ำกว่า 15 ปี 486 ราย ๖ (ร้อยละ 72) และเป็นผู้ใหญ่
อายุมากกว่า 192 ราย (ร้อยละ 28) เมื่อเทียบกับธรรมชาติของการเกิดโรคแล้ว การวินิจฉัยและรายงานผู้ป่วยสงสัยโรคไข้ดำแดงในผู้ใหญ่ตามระบบรายงาน ที่มากถึงกว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยทั้งหมดจึงอาจไม่ถูกต้องเท่าที่ควร ในการทบทวนสถานการณ์ พ.ศ. 2554 ต่อจากนี้ จึงขอวิเคราะห์เฉพาะข้อมูลผู้ป่วยเด็กต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 486 รายเท่านั้น

          ปี พ.ศ. 2554 พบผู้ป่วยในเด็กมากที่สุดในกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี 251 ราย (ร้อยละ 51) รองลงมา ได้แก่ 5 – 9 ปี 188 ราย (ร้อยละ 39) และ 10 – 15 ปี 47 ราย (ร้อยละ 10) พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยในปีนี้มีรายงานมาแล้วจาก 44 จังหวัด พบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัด เชียงใหม่ 101 ราย เชียงราย 51 รายนครราชสีมา 36 ราย หนองคาย 35 ราย และอุดรธานี 28 ราย

map.jpg

อภิปราย


          โรคไข้ดำแดงในประเทศไทย พ.ศ. 2554 มีรายงานเพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา อาจเกิดจากการที่มีข่าวการระบาดที่ประเทศฮ่องกง ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ให้ความสนใจและวินิจฉัยโรคนี้กันมากขึ้น เมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังจะพบว่า โรคนี้มีแนวโน้มตามฤดูกาล คือ มีรายงานผู้ป่วยมากในช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูฝน อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อที่พบมากในเด็ก อาจเป็นไปได้ว่า ช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม เป็นช่วงเปิดภาคการศึกษา ซึ่งจะมีนักเรียนกลุ่มใหม่มารวมกันเป็นจำนวนมาก เสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อในเด็กได้หลายชนิด ทำให้อุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้น แม้จะไม่เคยมีรายงานผู้เสียชีวิต แต่เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และอาจเสียชีวิต หรือเจ็บป่วยเรื้อรังจากภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ Rheumatic heart disease หรือ Acute glomerulonephritis ในภายหลัง ทำให้ต้องรับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

          เนื่องจากข้อมูลในระบบรายงานโรค พบว่า เป็นผู้ป่วยอายุมากกว่า 15 ปี ถึงกว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งขัดกับธรรมชาติของการเกิดโรค ข้อมูลผู้ป่วยสงสัยในกลุ่มผู้ใหญ่ดังกล่าว จึงอาจไม่ใช่ไข้ดำแดงที่แท้จริง แต่หากพิจารณาเฉพาะผู้ป่วยเด็กแล้ว จะพบโรคนี้ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานจากหลายจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งอาจเกิดจากขาดความครบถ้วนของการรายงานหรือแพทย์ไม่วินิจฉัย เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับโรคไข้ดำแดง


เอกสารอ้างอิง
1. David L. Heymann. Control of Communicable Diseases Manual 19th edition, An Official Report of the
American Public Health Association.
2. Sarah Long. Scarlet fever epidemic kills two in China. Online Journal. [Access on 9 July 2011] Available
from URL: http://onlinejournal.com/artman/publish/article_9947.shtml
3. Lynn Herrmann. Scarlet fever in Hong Kong now epidemic. Digital Journal. [Access on 9 July 2011]
Available from URL: http://www.digitaljournal.com/article/308285

ที่มา http://www.boe.moph.go.th/ 403 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ ปีที่ 42 ฉบับที่ 26 : 8 กรกฎาคม 2554