หน้าหนาว ระวังไวรัสโรตา !


หน้าหนาว ระวังไวรัสโรตา !

ไวรัสโรตา เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของโรคลำไส้อักเสบในทารกและเด็กเล็ก ทำให้เกิดอาการอาเจียนและท้องร่วงรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำมากที่สุด ไวรัสโรตา เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายมาก ชอบแฝงตัวอยู่ตามสิ่งของ เช่น ของเล่นเด็ก และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายชั่วโมง อยู่ได้นานเป็นวันๆ ซึ่งหากลูกน้อยนำสิ่งของหรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคเข้าทางปากก็จะทำให้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าไปได้อย่างง่ายดาย


อาการที่บ่งบอกว่าลูกน้อยโดนไวรัสโรตาเล่นงานเข้าแล้ว

1. หลังจากเด็กได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการเริ่มต้นด้วยการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาการไข้และอาเจียนมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน

2. อาการที่พบได้บ่อยคือ อาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นฟองหลายๆ หน บางคนอาจมีน้ำมูกไหลและไอร่วมด้วย อาการท้องเสียอาจเป็นนานได้ถึง 7-10 วัน


อันตรายถึงชีวิต ?

อาการอาเจียนและท้องเสียนั้น เด็กบางคนอาจมีอาการไม่รุนแรง เพียงดูแลตามอาการก็จะดีขึ้นจนหายไปได้เอง แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนทำให้กินอาหารไม่ได้ ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

ในรายที่เป็นรุนแรง เชื้อไวรัสโรตาจะทำลายเยื่อบุลำไส้ ส่งผลให้น้ำย่อยที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมมีปริมาณลดลง ทำให้เกิดอาการท้องเสียมากขึ้น ถ่ายเหลวกะปรดกะปรอย ท้องอืด เวลาถ่ายจะมีแก๊สหรือลมออกมาด้วย ถ่ายเป็นอุจจาระพุ่ง และผิวหนังบริเวณก้นรอบทวารหนักจะมีผื่นแดง ถ้ายังให้เด็กกินนมตามปกติจะยิ่งทำให้มีอาการท้องเสียเรื้อรังไม่หายและเป็นโรคขาดอาหารได้ ดังนั้นการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้ลูกหายเร็ว ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนเกิดผลเสียหรืออันตรายต่อชีวิต


ไม่มียา แล้วรักษาอย่างไร ?

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกเบื้องต้นก่อนพาลูกไปหาหมอได้ ดังนี้

1. ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ที่เหมาะสำหรับเด็กท้องเสีย อาจจะเป็นชนิดน้ำสำเร็จรูปหรือผงเกลือแร่ละลายน้ำต้มสุกก็ได้

2. ให้ลูกจิบหรือดื่มน้ำเกลือแร่ทีละน้อยแต่บ่อยๆ ไม่ควรให้ลูกดื่มครั้งละมากๆ เพราะเขาจะอาเจียนหรือถ่ายเหลวออกมาหมด

3. ไม่ควรใช้น้ำอัดลมและน้ำเกลือแร่ชนิดขวดสำหรับนักกีฬาผสมให้ลูกดื่ม เพราะปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่ไม่เหมาะสมกับเด็ก

4. ถ้าลูกมีภาวะขาดน้ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง คือ นอนซึม ไม่เล่น ไม่ร่าเริงเหมือนตามปกติ ปากแห้งมาก ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม เบ้าตาโหล ให้รีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที


จะป้องกันได้อย่างไร ?

1.ล้างมือให้ลูกน้อยบ่อยๆ

2.รักษาสุขอนามัยของสมาชิกในบ้าน และบริเวณที่ลูกชอบเล่น รวมถึงหมั่นล้างของเล่นเสมอๆ

3.เตรียมอาหารของลูกน้อยให้สุก สะอาด ถูกสุขลักษณะ โดยการผ่านความร้อน

4.การดื่มนมแม่จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะติดเชื้อไวรัสโรตาก็จะไม่มีอาการหรือมีน้อย เพราะภูมิคุ้มกันในนมแม่ช่วยในการกำจัดเชื้อได้

5.ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันไวรัสโรตาชนิดกิน ซึ่งเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยสูง ใช้ได้อย่างสะดวก ช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคไวรัสโรตา

·    เด็กในวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากไวรัสโรตาได้มากที่สุด

·    ครึ่งหนึ่งของทารกที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโรตา

·    เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบแทบทุกคนต้องเคยติดเชื้อไวรัสโรตาอย่างน้อย 1 ครั้ง

·   ไวรัสโรตาทำให้เด็กทั่วโลกต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่า 2 ล้านครั้งต่อปี

·    3 อาการเด่นของโรคคือ ไข้ อาเจียน และถ่ายเหลว

·    การดูแลความสะอาดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันไวรัสโรตาได้



(บทความโดย นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ)