การวินิจฉัยทางจุลชีววิทยา (ตอนที่ 15): การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อ Epstein-Barr Virus


รศ. นพ. ชาญวิทย์ ตรีพุทธรัตน์

ภาควิชาจุลชีววิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล

“การวินิจฉัยการติดเชื้อ Epstein-Barr Virus ยังมีความท้าทายอยู่ แม้ว่าจะค้นพบไวรัสชนิดนี้มาแล้วถึง 47 ปี”

เชื้อ Epstein-Barr virus (EBV) ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2511 ว่าเป็นเชื้อก่อโรค Infectious mononucleosis ที่มักเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เองในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันปกติ1 อาการอาจคล้ายโรคหวัด หูชั้นกลางอักเสบ ปวดท้อง ต่อมน้ำเหลืองรอบคอโต tonsillitis และ pharyngitis เป็นต้น การตรวจเลือดอาจพบมีระดับ liver enzyme สูงจาก hepatitis2 และมี lymphocytosis ที่พบ atypical lymphocytes สูงขึ้นมาก (ภาวะmononucleosis อาจมีสาเหตุมาจากเชื้ออื่นๆ เช่น cytomegalovirus, human herpes virus 6, adenovirus, rubella virus, mumps virus, HIV, hepatitis A virus, influenza A และ B virus, และ Toxoplasma gondii การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ยังไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการอาจจะรุนแรงขึ้น ตั้งแต่การมี benign B-cell hyperplasia ไปจนเห็นเป็นลักษณะคล้าย malignant lymphoma

พยาธิกำเนิดของ EBV เริ่มจากเชื้อเข้ามาที่ oropharynx จากการสัมผัสโดยตรงหรือการจูบ (มีชื่อโรคว่า Kissing disease ด้วย) เชื้อแบ่งตัวเพิ่มจำนวน genome ที่เป็น DNA ขนาด 186 kb ใน epithelial cells หรือ B cells และแพร่กระจายไปที่ส่วนอื่นๆของร่างกายโดย infected B cells เชื้ออาจเข้าสู่การเพิ่มจำนวนแบบ lytic cycle หรืออยู่เฉยแบบ latent infection ขึ้นอยู่กับการแสดงออกของ early genes หรือ late genes เชื้อถูกปล่อยออกมาจากร่างกายเป็นบางครั้งแล้วแพร่กระจายเป็นแบบ person to person ส่วนการติดต่อทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ หรือผ่านการเปลี่ยนอวัยวะพบได้น้อย แต่การป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อ EBV เลยตลอดชีวิตอาจจะเป็นไปไม่ได้

การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยในผู้ป่วยปกติที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ EBV ทำได้โดยการตรวจ heterophile antibodies จากคุณสมบัติการกระตุ้น B cells ให้สร้าง antibody หลายชนิดพร้อม ๆ กันขึ้นมาในกระแสเลือด ทำให้เกิด agglutination ของเม็ดเลือดแดงแพะ ม้า หรือวัวที่นำมาใช้ในการทดสอบ ซึ่งเป็นการตรวจที่ไม่จำเพาะต่อเชื้อ EBV การตรวจที่จำเพาะ ได้แก่การตรวจ immunofluorescence assay (IFA) ที่เป็นการตรวจหา EBV-specific antibodies ของผู้ป่วยต่อ EBV antigens บน EBV-infected B cell line ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการหรือการตรวจหา IgM และ IgG ด้วยเทคนิค enzyme immunoassay (EIA) ที่มักเป็นวิธี ELISA การแปลผลเป็นในลักษณะของการตอบว่าผู้ป่วยเป็น 1. Acute/primary EBV infection (IgM antibody-positive), 2. เคยติดเชื้อมาแล้วแต่ไม่มีการติดเชื้อ EBV ในครั้งนี้ (IgG antibody-positive) และ 3. ผู้ป่วยไม่เคยได้รับเชื้อ EBV มาก่อน (no antibody detected) ดังตาราง

Heterophile antibodies

Atypical lymphocytes

VCA IgM

VCA IgG

การแปลผล

±

±

+

+

Acute infection

-

-

-

+

Past infection

-

-

-

-

No infection

VCA = viral capsid antigen

การตรวจสำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติอาจจะมีผลการตรวจทาง serology tests ที่แปลผลไม่ได้ เช่น IgM ไม่ขึ้นในการป่วยแบบ acute/primary infection หรือไม่มี IgG antibody แม้ว่าจะเคยติดเชื้อมาแล้ว การตรวจทาง molecular ด้วยการทำ PCR เพื่อหา viral load อาจนำมาใช้ในการวินิจฉัยในผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งโดยทั่วไปทำได้โดยการส่ง plasma ของผู้ป่วยไปที่ห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจได้


References

  1. Hess RD. Routine Epstein-Barr virus diagnostics from the laboratory perspective:still challenging after 35years. J Clin Microbiol. 2004; 42: 3381-7.
  2. TanZH, PhuaKB, OngC, KaderA.Prolonged hepatitis and jaundice: a rare complication of paediatric Epstein-Barr virus infection. Singapore Med J. 2015 July; 56(7): e112–e115.