โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah viral diseases)

พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์


ข้อมูลสำคัญ

  • ผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์มีอาการไข้สมองอักเสบเป็นหลัก โดยอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • การแพร่ระบาดเกิดจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากค้างคาวผลไม้ และจากคนสู่คน
  • การรักษาเป็นแบบประคับประคอง ไม่มีการรักษาจำเพาะ
  • การป้องกันคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โดยเฉพาะค้างคาวผลไม้ และหลีกเลี่ยงรับประทานผลไม้ที่มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อ
  • ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์
  • เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งต้องรายงานภายใน 3 ชั่วโมง เมื่อพบผู้ป่วยที่ยืนยันผล

ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิด RNA ในสกุล Henipaviruses วงศ์ Paramyxovidae ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบเป็นหลัก โดยอยู่สกุลเดียวกับเฮนดราไวรัส (Hendra virus) ซึ่งก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเป็นหลัก


ระบาดวิทยา

ไวรัส์นิปาห์ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงในสุกรและการติดเชื้อไข้สมองอักเสบในมนุษย์ โดยพบผู้ป่วยทั้งหมด 265 ราย และเสียชีวิต 105 ราย และในปี พ.ศ. 2542 พบผู้ป่วยที่ประเทศสิงคโปร์ จากการสัมผัสสุกรซึ่งนำเข้าจากมาเลเซีย โดยพบผู้ป่วยจำนวน 11 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ต่อมาพบการระบาดในเมืองสิริกุรี ตอนเหนือของประเทศอินเดีย ในปีพ.ศ. 2544 โดยมีผู้ป่วยจำนวน 66 ราย เสียชีวิต 45 ราย และมีการระบาดในประเทศบังคลาเทศ ในปี พ.ศ. 2544-2555 โดยมีผู้ป่วย 214 ราย เสียชีวิต 166 ราย อย่างไรก็ตามการระบาดในประเทศอินเดียและบังคลาเทศ เกิดจากการบริโภคน้ำจากผลอินทผลัมที่ปนเปื้อนน้ำลายของค้างคาวผลไม้ และมีการติดต่อการคนสู่คน ไม่เหมือนการระบาดในประเทศมาเลเซียซึ่งเกี่ยวกับการสัมผัสสุกร รวมทั้งมีอาการและอาการแสดงแตกต่างกัน จึงมีการแบ่งเป็นสายพันธุ์มาเลเซีย และสายพันธุ์บังคลาเทศ และในปี พ.ศ. 2557 มีการระบาดในประเทศฟิลิปปินส์ โดยพบผู้ป่วยจำนวน 17 ราย และพบม้าเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเกิดจากการสัมผัสม้าที่ติดเชื้อ1

การระบาดครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่เมือง Kozhikode, Malapuram, Wayanda, Kannur รัฐเกรละ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย พบผู้ป่วยรายแรกในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ล่าสุดมีรายงานผู้ติดเชื้อเสียชีวิตแล้ว 12 ราย โดยเป็นพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย 1 ราย  และมีรายงานพบค้างคาวผลไม้ในบริเวณบ่อน้ำใกล้หมู่บ้าน แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันสาเหตุของการระบาดในครั้งนี้

111.png

รูปที่ 1  ตำแหน่งที่พบการระบาดของเชื้อไวรัสนิปาห์ และไวรัสเฮนดรา และถิ่นที่อยู่อาศัยของค้างคาวผลไม้ (ดัดแปลงจาก www.cdc.gov/vhf/nipah/outbreaks/distribution-map.html)2


การติดต่อของโรค

แหล่งรังโรคตามธรรมชาติคือ ค้างคาวผลไม้ (Pteropus) หรือเรียกว่า flying fox ซึ่งไม่แสดงอาการป่วย แต่สัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ คือ สุกร สุนัข แพะ แมว ม้า และแกะ ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะโรค การติดต่อของโรคมาสู่คนเป็นจากการสัมผัส หรือรับประทานวัตถุที่ปนเปื้อน ปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายของค้างคาวที่เป็นพาหะ หรือจากสัตว์อื่นที่ติดเชื้อ3 (รูปที่ 2) การศึกษาในประเทศไทยโดย ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา พบเชื้อนิปาห์ไวรัส ร้อยละ 7.8 ในค้างคาวผลไม้จากภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้4

222.png
รูปที่ 2  การแพร่กระจายเชื้อไวรัสนิปาห์ (ดัดแปลงจาก Current Opin in Virol. 2017; 22:97-104.)


ระยะฟักตัวของโรค  ประมาณ 4-60 วัน โดยร้อยละ 90 แสดงอาการภายใน 14 วันหลังได้รับเชื้อ 


ลักษณะอาการทางคลินิก 

ผู้ติดเชื้อมักมีอาการทางระบบประสาทเป็นหลักคือ ไข้ ปวดศีรษะ ตามมาด้วย ซึม สับสน และหมดสติ ภายใน 24-48 ชั่วโมง อาจพบอาการผิดปกติของก้านสมองคือ abnormal doll’s eye reflex และ vasomotor change นอกจากนี้อาจมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น myoclonic jerk และอาจพบอาการทาง cerebellar ร่วมด้วย รวมทั้งมีรายงานอาการทางจิตเวช เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง และซึมเศร้า เป็นต้น1

ลักษณะที่สำคัญอีกประการของการติดเชื้อไวรัสนิปาห์คือ สามารถกลับเป็นซ้ำ (relapse) หรือเป็นภายหลัง (late-onset) ได้ จากการศึกษาของ Tan และคณะ5 พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 7.5 มีอาการกลับเป็นซ้ำหลังจากหายแล้ว และร้อยละ 3.4 ไม่แสดงอาการทางระบบประสาทในการติดเชื้อช่วงแรกแต่มีอาการในภายหลัง โดยมีรายงานแสดงอาการได้นานถึง 11 ปีหลังจากการติดเชื้อ6 นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อบางคนมีผลกระทบระยะยาวคือ ลมชัก และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

นอกจากอาการทางระบบประสาทแล้ว ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย หรือมีรายงานที่พบเพียงอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างเดียว โดยไม่พบอาการทางระบบประสาทจากการระบาดในประเทศสิงคโปร์ (ตารางที่ 1)1,7


ตารางที่ 1  ความแตกต่างของลักษณะ อาการ และผลของการติดเชื้อนิปาห์ไวรัสระหว่างกลุ่มประเทศมาเลเซีย-สิงคโปร์ และบังคลาเทศ-อินเดีย
(ดัดแปลงจาก J Clin Microbiol. 2018; 56:e01875-17.) 

333.JPG


การตรวจทางห้องปฏิบัติการ 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ทำได้ 2 วิธีคือ 1) การตรวจทาง molecular หาเชื้อด้วยเทคนิค RT-PCR และ Real Time PCR จากตัวอย่างส่งตรวจ ได้แก่ Throat swab หรือ Nasal swab  น้ำไขสันหลัง ปัสสาวะ หรือชิ้นเนื้อ โดยแนะนำให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ 2 ชนิดตัวอย่างขึ้นไป และ 2) การตรวจทาง serology ทั้ง IgM และ IgG ด้วยเทคนิค ELISA หรือ IFA จากเลือด โดย IgM มักจะเริ่มพบผลบวกในวันที่ 3 ของการมีไข้ ส่วน IgG จะพบผลบวกร้อยละ 100 หลังจากการป่วยไปแล้ว 2-3 สัปดาห์  โดยในประเทศไทยสามารถส่งได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


การวินิจฉัย

ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับไข้สมองอักเสบ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ โดยเฉพาะค้างคาว หรือสัตว์อื่นที่มีอาการทางระบบประสาทหรือระบบทางเดินหายใจ หรือมีประวัติรับประทานผลไม้ที่มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อ หรือมีประวัติใกล้ชิดผู้ที่มีอาการไข้สมองอักเสบ ควรมีการส่งตรวจหาเชื้อไวรัสนิปาห์ โดยในประเทศไทย โรคไวรัสนิปาห์ถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องรายงานกรมควบคุมโรคภาย 3 ชั่วโมง หากพบผู้ป่วยที่ยืนยันผล โดยมีนิยามผู้ป่วยดังนี้8

ผู้ป่วยที่สงสัย หมายถึง ผู้ป่วยที่มีไข้ อาจจะสูงหรือต่ำก็ได้ และมีการเปลี่ยนแปลงทางระดับความรู้สึกตัว อาจมีชัก หรือผู้ที่มีไข้และอาเจียน หรือมีอาการแสดงทางระบบทางเดินหายใจ
ผู้ป่วยที่เข้าข่าย หมายถึง ผู้ป่วยที่สงสัยร่วมกับมีข้อมูลทางระบาดวิทยาเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่ยืนยันผล

ผู้ป่วยที่ยืนยันผล หมายถึง ผู้ป่วยที่สงสัยร่วมกับตรวจพบข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ ตรวจวิธี ELISA ให้ผลบวก ตรวจวิธี IFA ให้ผลบวก PCR for Nipah virus ให้ผลบวก


การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะ เป็นเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการ มีรายงานการใช้ยา Ribavirin ในช่วงการระบาดของประเทศมาเลเซียพบว่าสามารถลดอัตราการตายได้9 อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาประสิทธิภาพของยาเพิ่มเติม และเนื่องจากเชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ สิ่งสำคัญสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยคือการใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อทั้ง standard, contact และ droplet precautions10 รวมทั้งการใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม 


การป้องกัน

ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค วิธีป้องกันโรคคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โดยเฉพาะค้างคาวผลไม้ หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีโอกาสปนเปื้อนน้ำลาย มูลสัตว์ ปัสสาวะของค้างคาวผลไม้ ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่ที่พื้น หรือมีรอยกัดแทะ

เอกสารอ้างอิง
1. Ang BSP, Lim TCC, Wang L. Nipah Virus Infection J Clin Microbiol. 2018; 56:e01875-17. doi: 10.1128/JCM.01875-17
2. https://www.cdc.gov/vhf/nipah/outbreaks/distribution-map.html
3. Clayton BA. Nipah virus: transmission of a zoonotic paramyxovirus. Current Opin in Virol. 2017; 22:97-104.
4. Wacharapluesadee S, Lumlertdacha B, Boongrid K, Wanghongsa S, Chanhome L, Rollin P, et al. Bat Nipah Virus, Thailand. Emerg Infect Dis. 2005; 11:1949-51.
5. Tan CT, Goh KJ, Wong KT, Sarji SA, Chua KB, Chew NK, et al. Replased and late-onset Nipah encephalitis. Ann Neurol. 2002; 51:703-8.
6. Abdullah S, Chang LY, Rahmat K, Goh KJ, Tan CT. Late-onset Nipah virus encephalitis 11 years after the initial outbreak: a case report. Neurol Asia. 2012; 17:71-4.
7. Paton NI, Leo YS, Zaki SR, Auchus AP, Lee KE, Ling AE, et al. Outbreak of Nipah-virus infection among abattoir workers in Singapore. Lancet. 1999; 354:1253-6.
8. แนวทางการรายงานโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 
9. Chong HT, Kamarulzaman A, Tan CT, Goh KJ, Thanyaparan T, Kunjapan SR, et al. Treatment of acute Nipah encephalitis with ribavirin. Ann Neurol. 2001; 49:810-3.
10. Healthcare Infection Control Practice Advisory Committee. 2007 Guideline for isolation precautions: preventing transmission of infectious agents in healthcare setting. http://www.cdc.gov/hicpac/2007IP/2007isolationPrecautions.html