มาทำความรู้จักโรคมือ เท้า ปากกันเถอะค่ะ


แพทย์หญิง สุชาดา เรืองเลิศพงศ์
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วนัทปรียา พงษ์สามารถ
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย


โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตามเด็กโตและผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกันแต่จะพบได้น้อยกว่า โรคนี้มักพบการระบาดในฤดูฝน โรคมือ เท้า ปากเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเตอร์โรไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ แต่เชื้อที่ก่อโรคได้รุนแรงที่สุด คือ เชื้อเอนเตอร์โรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี 71 โรคนี้เป็นอย่างไร ติดต่อวิธีไหน ละควรปฏิบัติตัวอย่างไร เรามาทำความรู้จักโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้นกันดีกว่าค่ะ

โรคมือ เท้า ปาก มีอาการและอาการแสดงอย่างไร
โรคมือ เท้า ปาก มักเริ่มจากอาการไข้ 1-2 วัน มีแผลในปาก เจ็บปากและรับประทานอาหารได้ลดลง จากนั้นจะขึ้นผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจมีผื่นที่แขน ขา ข้อศอกและก้นได้ ผู้ป่วยมักมีอาการมากอยู่ 2-3 วันแรก จากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีปัญหารับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อยลง เนื่องจากมีอาการเจ็บแผลในช่องปากจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ส่วนในผู้ใหญ่นั้นพบว่าส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสให้แก่ผู้อื่นได้


11.JPG
22.JPG


โรคมือ-เท้า-ปาก ติดต่อได้อย่างไร
โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ตุ่มหรือผื่นที่ผิวหนัง หรืออุจาระของผู้ป่วยทั้งสัมผัสโดยตรงและสัมผัสเชื้อทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น ภาชนะต่างๆ น้ำดื่มและอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อจากสารคัดหลั่งหรืออุจจาระของผู้ป่วย รวมถึงมือผู้เลี้ยงดู จึงมักพบการระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กได้บ่อย ผู้ป่วยมักมีอาการหลังสัมผัสเชื้อโรค 3-5 วัน
โรคมือ เท้า ปาก สามารถให้การวินิจฉัยได้อย่างไร
โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย สำหรับรายที่พบว่ามีอาการไม่ชัดเจนหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หรือมีการระบาด แพทย์อาจจะพิจารณาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

โรคมือ เท้า ปาก รักษาได้อย่างไร
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียารักษาจำเพาะ เน้นการรักษาประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น เช็ดตัวเพื่อลดไข้อาจร่วมกับการใช้ยาลดไข้ ใช้ยาชาทาบริเวณแผลในช่องปากเพื่อลดอาการเจ็บ ดูแลสุขอนามัยในช่องปาก ควรให้รับประทานอาหารรสอ่อน เย็นๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บจากแผลในช่องปาก เช่น นมแช่เย็น ดื่มน้ำและน้ำผลไม้แช่เย็น โยเกิร์ต ไอศกรีม เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด จะทำให้มีอาการแสบที่แผลได้ ถ้าอาการไม่รุนแรงผู้ปกครองสามารถให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้ อย่างไรก็ตามหากพบว่าผู้ป่วยโรค มือ เท้า ปากมีอาการรุนแรง หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อน ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ เพื่อพิจารณารับการรักษาไว้ในโรงพยาบาล หากผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำมาก แพทย์จะพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ 

อาการที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งเป็นสัญญาอันตราย
แม้ว่าเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปากส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ประมาณ 1 ต่อ 2,000-10,000 ราย ซึ่งได้แก่ 
  • ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ ซึม สับสน อัมพาตแขนขาอ่อนแรง ชักเกร็งกระตุก มือหรือตัวสั่น เดินเซ เป็นต้น 
  • ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจวายและน้ำท่วมปอด ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจเร็วผิดปกติ หอบเหนื่อย เป็นต้น 
ซึ่งอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่สามารถทำนายได้ว่าผู้ป่วยรายใดจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ผู้ปกครองจึงต้องสังเกตอาการบุตรหลาน และหากมีสัญญาณอันตรายต่อไปนี้ได้แก่ มีไข้สูงนานเกิน 2 วัน อาเจียนมาก ซึม มือกระตุกคล้ายผวา เดินเซ ตากระตุก หายใจหอบเหนื่อยควรรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีอาการดังที่กล่าวมา ให้รีบพาบุตรหลานพบแพทย์ทันที 

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรค มือ เท้า ปาก
หากเด็กเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้หยุดเรียนเป็นเวลา 7 วันและจนกว่าตุ่มตามร่างกายจะหาย ควรแจ้งทางโรงเรียนว่า เด็กเป็นโรคมือ เท้า ปาก เพื่อทางโรงเรียนจะได้ดูแลความสะอาดและป้องกันเด็กรายอื่น ๆ ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ภาชนะออกจากบุคคลอื่นในครอบครัวและใช้ช้อนกลางเวลารับประทานอาหาร ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่ และเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ และอุจจาระของเด็กที่เป็นโรคเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่น เนื่องจากเชื้อจะอยู่ในสารคัดหลั่งได้หลายสัปดาห์ แม้ว่าจะหายป่วยแล้ว ทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน ด้วยสบู่ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป แล้วทำให้แห้ง การทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ผู้ปกครองไม่ควรพาเด็กป่วยออกนอกบ้านและงดพาไปในแหล่งสาธารณะอื่น เช่น สระว่ายน้ำ บ้านบอล เพราะอาจไปแพร่เชื้อให้เด็กอื่นได้ 

สำหรับการป้องกัน ในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ได้ การป้องกันที่ดีที่สุด คือการรักษาสุขอนามัยที่ดี กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ควรระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของทุกๆ อย่างที่เด็กอาจเอาเข้าปาก และล้างมือก่อนการรับประทานอาหารทุกครั้ง และในช่วงเวลาที่โรคมือ เท้า ปากระบาด ควรงดพาเด็ก ไปแหล่งชุมชม อาทิ บ้านบอล สระว่ายน้ำ ฯลฯ เพียงเท่านั้นลูกน้อยของคุณก็จะปลอดภัยจากโรคมือ เท้า ปาก ค่ะ