โรคไข้เลือดออก (Dengue)


นพ.วรวิทย์ กันทะมาลี
ผศ. ดร. นพ. นพพร อภิวัฒนากุล
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย


โรคไข้เลือดออกเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว แต่ก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก และถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ และวัคซีนเองก็ยังไม่สามารถฉีดได้กับทุกคน โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทยซึ่งมีการระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝน โดยโรคมีความรุนแรงที่แตกต่าง ๆ กันในผู้ป่วยแต่ละราย ในกรณีที่มีความรุนแรงมากอาจถึงแก่ชีวิตได้ 


โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร ?
โรคเลือดเลือดออกเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) โดยมีพาหะเป็นยุงลาย(Aedes aegypti) โดยเฉพาะยุงลายตัวเมียที่ชอบหากินในเวลากลางวัน ผู้ที่ถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่กัดอาจเกิดการติดเชื้อและมีอาการได้ ไวรัสเดงกี่มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4 โดยทุกสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดไข้เลือดออกได้ มนุษย์จึงสามารถติดเชื้อไวรัสเดงกี่ซ้ำได้หลายครั้ง เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอด แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นเพียงชั่วคราว


อาการของโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างไร ?
อาการมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการ สำหรับผู้ที่มีอาการ จะมีอาการที่เด่นชัดคือ ไข้สูง (39-40 องศาเซลเซียส) อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้อง (โดยเฉพาะด้านขวาบน) คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีเลือดออกที่ตำแหน่งต่าง ๆ โดยที่พบบ่อยที่สุดคือบริเวณผิวหนัง ลักษณะเป็นจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขนขาลำตัว ที่พบบ่อยถัดมาคือเลือดกำเดาไหล กรณีมีเลือดออกที่อวัยวะภายใน เช่นทางเดินอาหารจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำและซีดอย่างรวดเร็ว ถ้ายิ่งมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วยอาการเลือดออกก็จะรุนแรงมากบางรายที่เมื่อไข้ลงแล้วจะมีภาวะช็อคตามมา ภาวะช็อกจากไข้เลือดออกเกิดจากการที่สารน้ำในหลอดเลือดรั่วออกไปนอกหลอดเลือด สามารถทำให้มีความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็นกระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อย ซึม ชัก หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้นได้


ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกที่รุนแรง ?
ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่เกิดโรคไข้เลือดออกรุนแรงได้แก่ น้ำหนักตัวมาก หญิงตั้งครรภ์ เด็กทารก มีโรคประจำตัว เช่น ธาลัสซีเมีย โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีหัวใจวาย ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ผู้ป่วยไตวาย ผู้ที่ได้รับยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารหรือยาที่มีผลต่อเกล็ดเลือด


โรคไข้เลือดออกวินิจฉัยอย่างไร ?
การวินิจฉัยอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย อาการทางคลินิก และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมกัน โดยพบเม็ดเลือดแดงเข้มข้นขึ้น จำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำได้บ่อย นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจหาเชื้อไข้เลือดโดยตรง (NS-1 antigen) โดยน่าเชื่อถือในช่วง 1-3 วันแรกของไข้ หรือตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออก (Dengue IgM) แต่ยังไม่มีวิธีไหนทำนายความรุนแรงของโรคได้ในปัจจุบัน


โรคไข้เลือดออกดูแลรักษาอย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาหลักจึงเป็นการรักษาตามอาการเพื่อประคับประคองให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เช่น ให้ยาลดไข้แก้ปวด เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารเนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ในรายที่อาการไม่รุนแรงอาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน แต่หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการกระสับกระส่ายอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็นผิดปกติ ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด


ป้องกันไข้เลือดออกได้อย่างไร ?
  • ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET ติดมุ้งลวดที่หน้าต่าง นอนในมุ้ง รวมถึงป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาหลบซ่อนในบ้าน 
  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและบริเวณใกล้เคียง ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ทุกสัปดาห์ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว รวมทั้งหากพบการระบาดในชุมชนก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อฉีดยากันยุงและใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำขัง

วัคซีนไข้เลือดออกคืออะไร ?
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก DengvaxiaTM เป็นวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต ที่ผลิตจากไวรัสลูกผสมระหว่างวัคซีนไข้เหลือง และไวรัสเดงกี่ ผลการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโรคได้ 65% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 93% และมีความปลอดภัย โดยได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในผู้ที่อายุ 9-45 ปี 

การศึกษาต่อมา พบว่าในเด็กอายุ 9-16 ปี ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน เมื่อได้รับวัคซีนนี้แล้วอาจจะมีความเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้รับวัคซีนจะมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน 


แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้เลือดกับใครบ้าง ?
  • เด็กที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน และอายุมากกว่า 9 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ 
  • เด็กที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือไม่ทราบว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ควรตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน แม้ว่าผลการตรวจเลือดในปัจจุบันอาจไม่แม่นยำ แต่สามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจได้ 
  • เด็กที่ฉีดมาก่อนแต่ยังไม่ครบ อาจพิจารณาให้ฉีดต่อหรือหยุดฉีดก็ได้ โดยไม่ต้องตรวจเลือด 
  • ผู้ใหญ่ (อายุ < 45 ปี) อาจพิจารณาฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องตรวจเลือดเพราะมักเคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว