จุลสารสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย | เมษายน 2563 (ฉบับปรับปรุง 10 พฤษภาคม 2563)



นายกสมาคมฯ เปิดใจแถลง

โดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 

Screen_Shot_2562_02_03_at_22.27.24.png


เมื่อปี พ.ศ. 2500 มีการระบาดของ Asian Flu ในประเทศไทย และระบาดอยู่นาน 6 ปี ขณะนั้นผมเรียนชั้นประถมปีที่ 4 อยู่แถวฝั่งธน โรงเรียนปิดเป็นเดือน ทางราชการประกาศให้อยู่บ้าน ใครป่วยมากให้แจ้ง สถานีตํารวจเพื่อเอา “รถหวอ” ไปรับจากบ้านมาโรงพยาบาล จะเห็นว่า มาตรการ Social Distancing (เว้นระยะห่างทางสังคม) ทำมาหกสิบกว่าปีแล้ว และกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดเอเชียจะสงบใช้เวลาหลายเดือน ในสมัยนั้นยังไม่มียาต้านไวรัส มีแต่ยาแก้ ไอและยาแก้ ไข้ aspirin (สงสัยอาจมี Reye Syndrome เกิดขึ้น แต่ทางการแพทย์คงไม่ทราบ) ภาพที่ติดตาคือตามถนนหนทางแทบไม่มีรถวิ่ง ผู้คนก็หลบอยู่แต่ในบ้าน ไปซื้อขนมปากซอย ต้องรีบไปรีบกลับเพราะกลัวจะติดโรคมาก เรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 เริ่มมีโรค SARS ระบาดมาจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและลามไปทั่วโลก ประเทศไทยมีจํานวนผู้ป่วยแค่ไม่กี่ราย ไม่มี local transmission แต่ผู้ป่วยทั่งโลกมีประมาณ 8,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 10% แต่แล้วอยู่ดีๆ ก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่กําลังต่อสู้กับโรค SARS ใกล้สงบ โรคไข้หวัดนก H5N1 ก็เริ่มระบาดในเวียดนาม ไทยและประเทศอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยมีผู้ป่วย H5N1 เพียง 25 ราย เสียชีวิต 18 ราย แต่เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยมีการเตรียมตัวรับมือการผสมและกลายพันธุ์ ของ A/H5N1 กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ประจําฤดูกาลกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่อาจจะระบาดจากคนสู่คนอย่างกว้างขวางจนอาจกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ (Pandemic Flu) ผลจากการเตรียมตัวช่วงที่มี H5N1 จนถึงปัจจุบันได้แผ่อานิสงค์เป็นรูปแบบในการเตรียมความพร้อมเพื่อ ควบคุมการระบาด ไข้หวัดนก H5N1, ไข้หวัดใหญ่ 2009, MERS CoV, Ebola และล่าสุดคือ COVID-19


ปลายเดือนธันวาคม 2562 พวกเราที่ทํางานด้านโรคติดเชื้อได้ข่าว จากประเทศจีนว่ามีผู้ป่วยปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อนเกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น แต่ยังไม่กังวลเพราะจีนตอนนี้ก้าวไกลมาก และ Wuhan เป็นเมืองที่มี Lab Microbiology ที่ดีระดับ 1 ใน 5 ของจีน วันที่ 3 มกราคม 2563 ไทยเราก็ยกระดับการคัดกรองที่ สนามบินทันทีเพราะเดือนหนึ่งๆ มีคนจีน มาเที่ยวไทยประมาณ 1 ล้านคน (แต่ละคนใช้จ่ายประมาณ 5-7 หมื่นบาท) และแล้ววันท่ี 13 มกราคม 2563 ไทยก็รายงานผู้ป่วย COVID-19 รายแรก (และเป็นรายแรกของ COVID-19 นอกประเทศจีน) หลังจากนั้นเราเพิ่มมาตรการในการตรวจจับ “การแพร่กระจายเชื้อ ” มากขึ้น (มาตรการของจีนในการต่อสู้ขณะนั้นคือ “ลดการตาย”) การดําเนินงานโดยภาพรวมของ ภาครัฐและกระทรวงสาธารณสุขอาจจะไม่ถูกใจชาวบ้าน แต่ผมเข้าใจดีว่า ชาวบ้านอยากเห็นโรคสงบโดยเร็ววัน แต่เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว แถมยัง ระบาดกว้างไกลไปทั่วประเทศและระบาดไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก ทุกประเทศต้องพึ่งพาตัวเอง ต้องใช้มาตรการต่างๆ จากความเห็นของตนเอง ร่วมกับข้อมูลจากประเทศอื่นๆ ผมเองไม่เคยเห็นโรคระบาดใดๆ ในชีวิต การทำงานของผมที่กระจายกว้างไกลเท่า COVID-19 เลย และก่อผลกระทบ ต่อชีวิตจิตใจเหลือคณานับ


สถานการณ์ COVID-19ในประเทศอิตาลี เป็นภาพที่แสนจะหดหู่ใจเมื่อแพทย์จำเป็นต้องเลือกว่าผู้ป่วยคนใดสมควรอยู่ หรือสมควรไป แพทย์หลายคนมีความกดดันมาก ต้องตัดสินใจทั้งน้ำตา เพื่อทําในสิ่งที่เหมาะสมและคุ้มค่าทั้งๆ ที่ผิดจริยธรรมทางการแพทย์ แต่จำเป็นต้องทำ ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองให้ประเทศไทยอยู่รอดปลอดภัย ซึ่งพวกเรายินดีสละแรงกายแรงใจในสิ่งที่เรามีและร่ำเรียนมาเพื่อคนไข้และประเทศที่เรารัก ขอให้ทุกท่านและครอบครัวปลอดภัย  ขอคุณพระคุณเจ้าคุ้มครองให้ประเทศปลอดภัยและผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยดี



ดาวน์โหลดจุลสาร - คลิกที่นี่