โรคมือ เท้า ปาก และการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71


การระบาดครั้งล่าสุดของโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กวัยเรียน ทำให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคดังกล่าวในเด็กอีกครั้ง หลังจากที่พบผู้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปากในกัมพูชา โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 60 ราย

สาเหตุของโรคที่รุนแรงเกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือ อีวี 71 ซึ่งมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ทำให้สถานการณ์ของโรคดังกล่าวระบาดรุนแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยปกติสาเหตุของเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อยในประเทศไทยคือเชื้อไวรัสค็อกซากี (Coxsackie) ชนิดเอ 16 พบในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป และอยู่ภายใต้การติดตามทางระบาดวิทยามาโดยตลอด

โรคมือ เท้า ปากเป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน โดยมีการระบาดช่วงฤดูฝน สาเหตุจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยไวรัสค็อกซากี เป็นสายพันธุ์ที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่การระบาดของเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ครั้งนี้มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 ที่พบก่อโรคในเด็กกลุ่มอายุน้อยลง คือ อายุน้อยกว่า 2 ปี เมื่อได้รับเชื้อจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง มีไข้สูง อาเจียนมาก หายใจหอบ มีภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำจนช็อก ในกรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มีอาการชักเกร็ง ซึม และเสียชีวิตได้

           โรคมือ เท้า ปาก มักพบการระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยโรคดังกล่าวมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ และสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ โดยเชื้อไวรัสก่อโรคมือเท้า ปาก สามารถแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ และติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย ตลอดจนการติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคชนิดนี้

อาการแสดงออกของโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กจะมีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขา อาการดังกล่าวมักมีเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายได้ใน 1 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง

“โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว สามารถหายป่วยได้เอง มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง จากเชื้ออีวี 71 ที่ทำให้สมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึมอ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน”

แม้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ อีกทั้งโรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มียารักษาจำเพาะ แต่สิ่งที่แพทย์ปฏิบัติ คือการรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่ สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ เด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคสามารถทำได้โดยแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ ทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่น การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปสามารถกำจัดเชื้อได้ ควรระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก ในขณะที่โรงเรียนควรแยกเด็กป่วยให้ลาหยุดอย่างน้อย 5 วันจนหายดีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อแก่เด็กอื่นๆ และพิจารณาปิดชั้นเรียนที่มีเด็กป่วยเป็นโรคมากกว่า 2 คน และหากมีเด็กป่วยหลายชั้นเรียน ควรปิดโรงเรียนอย่างน้อย 5 วัน พร้อมทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ ของเล่น อุปกรณ์รับประทานอาหาร เป็นต้น

สำหรับผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และแจ้งโรงเรียนทราบ และให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหายอย่างน้อย 5 วัน โดยเด็กที่ติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก สามารถหายได้เอง หากไม่มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น

บทความโดย: นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ภาพประกอบ: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข