โรคติดเชื้อจากใน “ถ้ำ” (Cave diseases)
โดย
อาจารย์ ดร. แพทย์หญิงทวิติยา สุจริตรักษ์
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สืบเนื่องจากข่าวดังทั่วโลกเกี่ยวกับการติดถ้ำของนักฟุตบอลเยาวชน ทีม “หมูป่าอะคาเดมี” ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานถึง 17 วัน ซึ่งในที่สุดทั้ง 13 ชีวิต ได้รับการช่วยเหลือและพาส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย ในบทความนี้จึงได้ทบทวนโรคติดเชื้อต่างๆ ที่อาจเกิดการติดต่อได้ภายในถ้ำ (cave disease)
“ถ้ำ” ถือเป็นสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมเฉพาะตัว กล่าวคือ ไม่มีแสงอาทิตย์ส่องถึง และมีอุณหภูมิที่ค่อนข้างคงที่ตลอดเวลา โดยทั่วไปอุณหภูมิภายในถ้ำมักจะใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกถ้ำ ดังนั้นความแตกต่างของอุณหภูมิในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ทำให้สัตว์ประจำถิ่นภายในถ้ำ (cave fauna) เช่น ค้างคาว นก สัตว์ฟันแทะ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำนั้น มีความแตกต่างกันไป ซึ่งโรคติดเชื้อที่สามารถเกิดการติดต่อภายในถ้ำ มักเกิดขึ้นจากเชื้อโรคที่มีความเชื่อมโยงกับสัตว์ประจำถิ่นในถ้ำเหล่านี้
ทั้งนี้ โรคติดเชื้อที่สามารถเกิดการติดต่อภายในถ้ำที่มีความสำคัญ ได้แก่
- โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว (spirochete) ในตระกูล Leptospira และถือเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic disease) พาหะนำโรคที่สำคัญ คือ หนู และค้างคาวที่อาศัยอยู่ภายในถ้ำ เชื้อ Leptospira จะถูกปล่อยออกมาในปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ และปนเปื้อนอยู่ตามน้ำและดินที่เปียกชื้นได้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง เช่น รอยแผล รอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก นอกจากนี้ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานานได้ โดยทั่วไปคนมักติดเชื้อในขณะเดินเหยียบดินโคลน แช่น้ำท่วม หรือว่ายน้ำ หรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะ เนื้อเยื่อ หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ติดเชื้อ ดังนั้นผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำจึงอาจป่วยด้วยโรคฉี่หนูได้ ระยะฟักตัวของโรคนี้ คือ 5-14 วัน
ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่มีอาการ (asymptomatic) จนกระทั่งมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต (life threatening) ขึ้นกับชนิดและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ อาการทางคลินิกที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อน่อง โคนขา หลัง ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการและอาการแสดงของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับและไตวาย มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไอเสมหะมีเลือดปน เป็นต้น
การวินิจฉัยโรค ต้องอาศัยอาการทางคลินิกร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจพบเชื้อในเลือดหรือปัสสาวะ หรือการตรวจทางน้ำเหลืองที่จำเพาะ เช่น microscopic agglutination test สำหรับการรักษาโรคฉี่หนู ประกอบด้วยการให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม คือ ยา penicillin โดยเร็วที่สุด ร่วมกับการรักษาตามอาการ
- โรคสมองอักเสบนิปาห์ (Nipah) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูล Henipavirus และถือเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic disease) เช่นกัน แหล่งรังโรคที่สำคัญ คือ ค้างคาวผลไม้ (fruit bat) ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทั่วไปคนมักได้รับเชื้อไวรัสนิปาห์ผ่านทางการสัมผัสกับสุกรที่ติดเชื้อ หรือจากการรับประทานผลไม้ที่ปนเปื้อนปัสสาวะหรือน้ำลายของค้างคาว นอกจากนี้คนอาจได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้ผ่านทางการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาวโดยตรง เช่น ปัสสาวะหรือน้ำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้พบโรคสมองอักเสบนิปาห์ได้ในผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำ ระยะฟักตัวของโรคนี้ คือ 4-14 วัน
ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงมีอาการผิดปกติอย่างรุนแรงในระบบประสาท หรือระบบทางเดินหายใจ และเสียชีวิตได้ เริ่มแรกผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามมาด้วยอาการมึนงง ความรู้สึกตัวลดลง และมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงภาวะสมองอักเสบ (encephalitis) ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก อาจมีอาการชัก โคม่า ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจพบมีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ หรือกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome, ARDS) ร่วมด้วยได้
การวินิจฉัยโรค ต้องอาศัยอาการทางคลินิกร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจ real time polymerase chain reaction (RT-PCR) จากสารคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย ได้แก่ น้ำไขสันหลัง ปัสสาวะ สารคัดหลั่งในจมูกและลำคอ เป็นต้น หรือการตรวจทางน้ำเหลืองด้วยวิธี enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) ในปัจจุบันยังคงไม่มียาหรือการรักษาเฉพาะสำหรับโรคสมองอักเสบนิปาห์ การรักษาที่สำคัญคือการรักษาแบบประคับประคองตามอาการในผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทหรือระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง
- โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูล Lyssavirus สัตว์นำโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เช่น สุนัข แมว กระต่าย กระรอก กระแต หนู ลิง ชะนี แพะ แกะ วัว ควาย รวมถึงค้างคาวที่อยู่ในป่าหรือถ้ำ การติดเชื้อในถ้ำมักมีสาเหตุมาจากการถูกค้างคาวกัด ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกตัวในขณะถูกกัด ทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดบาดแผลหรือรักษาได้ทันท่วงที ระยะฟักตัวของโรคนี้ คือ 1-3 เดือน แต่อาจสั้นเพียงแค่ 7 วันหรือยาวเกินกว่า 1 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับ
อาการของโรคจะเริ่มต้นจาก มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ชา เจ็บเสียวหรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว กลัวแสง ต่อมาเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่สมองและระบบประสาท ผู้ป่วยอาจมีอาการคลุ้มคลั่ง กระวนกระวาย ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ประสาทหลอน ชัก หายใจหอบ หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
การวินิจฉัยโรค ต้องอาศัยอาการทางคลินิกร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสโดยวิธีอณูชีววิทยา (molecular technique) ในสิ่งส่งตรวจต่างๆ ได้แก่ น้ำลาย ปัสสาวะ น้ำไขสันหลัง ปมรากผม และผิวหนังบริเวณปมรากผม การแยกเชื้อไวรัสในน้ำลาย การตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธี direct fluorescent rabies antibody tests (DFA) จากการขูดกระจกตา และการตรวจหาระดับ neutralizing antibody ในเลือด (สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน) หรือในน้ำไขสันหลัง ในปัจจุบันยังคงไม่มียาหรือการรักษาเฉพาะสำหรับโรคพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตามการรักษาที่สำคัญ คือ การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาที่ทำให้ผู้ป่วยสงบ ให้สารน้ำทางเส้นเลือดให้เพียงพอ แยกผู้ป่วยให้อยู่ในห้องที่สงบปราศจากเสียงรบกวน เป็นต้น
- โรคติดเชื้อรา Histoplasmosis เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Histoplasma capsulatum ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อจากในถ้ำที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในถ้ำมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่กระจายของเชื้อราชนิดนี้ การติดต่อของโรคเกิดขึ้นผ่านดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินที่ปนเปื้อนสิ่งขับถ่ายของไก่ นก และค้างคาว ในรูปของสปอร์ (conidia) ที่ปลิวฟุ้งในอากาศ แล้วมีการสูดหายใจเข้าไปในปอด ดังนั้นในถ้ำที่มีนกหรือค้างคาวอาศัยอยู่ ผู้ที่ติดในถ้ำอาจสัมผัสกับสิ่งขับถ่ายของสัตว์เหล่านี้ และได้รับเชื้อทางการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราชนิดนี้เข้าไปได้ โดยทั่วไประยะฟักตัวของโรค คือ 1-3 สัปดาห์
ผู้ติดเชื้อราชนิดนี้ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีอาการผิดปกติ ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ การติดเชื้อที่ผิวหนัง ปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อแบบแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรคขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ได้รับ และระดับภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ ในผู้ที่มีภาวะปอดอักเสบมักมีไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจหอบ เจ็บหน้าอก เสียงแหบ บางครั้งอาจมีไอเป็นเลือดร่วมด้วย ในรายที่ได้รับเชื้อปริมาณมากอาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบชนิดรุนแรง ที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) ได้ สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อชนิดแพร่กระจาย ซึ่งมักพบในเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีอาการไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองโต นอกจากนี้อาจพบแผลเปื่อยภายในปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้และผิวหนัง ภาวะต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ และภาวะเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วยได้
การวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน หรือการติดเชื้อชนิดแพร่กระจายที่เหมาะสม คือ การตรวจแอนติเจนของเชื้อรา H. capsulatum ด้วยวิธี quantitative enzyme immunoassay ในเลือด ปัสสาวะ น้ำไขสันหลัง หรือน้ำล้างปอด เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีภาวะปอดอักเสบแบบกึ่งเฉียบพลันหรือเรื้อรัง การตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม คือ การตรวจทางน้ำเหลืองด้วยวิธีต่างๆ เช่น complement fixation, immunodiffusion หรือ latex agglutination เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเพาะเชื้อราจากสิ่งส่งตรวจ เช่น เลือด ไขกระดูก เสมหะ ชิ้นเนื้อ คือวิธีที่ให้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนที่สุด แต่อาจต้องใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์ สำหรับการรักษาในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบชนิดไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านเชื้อราหากภูมิคุ้มกันปกติ เนื่องจากการติดเชื้อสามารถหายได้เอง อย่างไรก็ตามอาจพิจารณาให้ยา itraconazole หากอาการไม่ดีขึ้นภายในเวลา 4 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบชนิดรุนแรง หรือมีการติดเชื้อชนิดแพร่กระจาย ควรพิจารณาให้ยาต้านเชื้อราทางหลอดเลือดดำ เช่น amphotericin B หรือ amphotericin B ในรูปแบบ lipid formulation
นอกเหนือจากโรคติดเชื้อที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยังมีโรคติดเชื้ออีกหลายชนิดที่สามารถทำให้เกิดการติดต่อภายใน “ถ้ำ” ได้ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ เช่น โรคบาดทะยัก โรคเมลิออยด์ โรคที่สัมพันธ์กับเห็บกัด เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานาน เมื่อได้รับการช่วยเหลืออกมาแล้วจำเป็นต้องได้รับการกักตัวให้อยู่ในพื้นที่เขตกักกันโรคติดต่อ และตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อต่างๆ เหล่านี้ ก่อนได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโรคสู่บุคคลอื่นๆ ในสังคมต่อไป ซึ่งถือเป็นหลักปฎิบัติตามมาตรฐานสากล
เอกสารอ้างอิง
- Igreja RP. Infectious diseases associated with caves. Wilderness Environ Med. 2011;22:115-21.
- American Academy of Pediatrics. Leptospirosis. In: Kimberlin DW, Brady MT, Jackson MA, Long SS, editors. Red Book: 2018 Report of the Committee on Infectious Diseases. 31st ed. Itasca, IL: American Academy of Pediatrics; 2018. p. 508-11.
- World Health Organization Nipah virus [internet]. 2018 [cited 31 August 2018]. Available from: http://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/nipah-virus
- American Academy of Pediatrics. Rabies. In: Kimberlin DW, Brady MT, Jackson MA, Long SS, editors. Red Book: 2018 Report of the Committee on Infectious Diseases. 31st ed. Itasca, IL: American Academy of Pediatrics; 2018. p. 673-80.
- American Academy of Pediatrics. Histoplamosis. In: Kimberlin DW, Brady MT, Jackson MA, Long SS, editors. Red Book: 2018 Report of the Committee on Infectious Diseases. 31st ed. Itasca, IL: American Academy of Pediatrics; 2018. p. 449-53.
สนับสนุนการแสดงผลในทุกอุปกรณ์ของคุณ

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
ชั้น 9 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี
เลขที่ 2 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320
Tel: 02-716-6534 FAX: 02-716-6535 E-Mail: webmaster@pidst.or.th, info@pidst.or.th