แพทย์หญิงกนกพร รังสิตเสถียร
อาจารย์แพทย์หญิงวรรษมน จันทรเบญจกุล
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
โรคไข้หวัดใหญ่ คืออะไร?
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยในฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี อาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้
ไข้หวัดใหญ่มีความแตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร ?
เกิดจากเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน และมีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ส่วนไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดจากการเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น rhinovirus, adenovirus เป็นต้น โดยไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
ไข้หวัดใหญ่ในคนมีกี่สายพันธุ์?
ไข้หวัดใหญ่ในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ ซัปไทด์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 lineages คือ Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้อย่างไร?
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสละอองฝอยจากการไอและการจามของผู้ป่วย เชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-4 วัน
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีอาการแตกต่างกันตามอายุ โดยในกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นจะมีอาการของไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในบริเวณหลัง ต้นแขน ต้นขา มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอแห้ง เจ็บคอ และเบื่ออาหาร ส่วนในเด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการทางระบบอื่น เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง
ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่?
- หญิงมีครรภ์
- เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- บุคคลที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย มะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ไข้หวัดใหญ่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง?
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ
ไข้หวัดใหญ่รักษาอย่างไร?
ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนและให้นอนพักผ่อน ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน อาจต้องใช้ยาต้านไวรัส โอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย สงสัยปอดอักเสบหรือมีอาการที่รุนแรงอื่น อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
มีวิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างไรบ้าง?
- ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย
- ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ?
เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ ในการผลิตวัคซีนแต่ละปีจึงมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตามเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน และเนื่องจากระยะก่อโรคสั้น จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันโรค ดังนั้นจึงต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี
ปัจจุบันกรมควบคุมโรค-สปสช.ชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฟรี ป้องกันการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ ครอบคลุมสายพันธุ์แพร่ระบาดตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก