โรคไอพีดี (IPD)


โรคไอพีดี(IPD)คืออะไร
IPD ย่อมาจาก invasive pneumococcal disease คือโรคติดเชื้อชนิดลุกลามที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อนิวโมคอคคัส ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง จนอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี


เชื้อนิวโมคอคคัส คืออะไร
เชื้อนิวโมคอคคัสมีชื่อเต็มว่า Streptococcus pneumoniae เชื้อนี้พบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ง่าย คล้ายไข้หวัด และทำให้เกิดโรคได้ในทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่ถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะไม่แสดงอาการแต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อนี้สามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งยังสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อย ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง


เชื้อนิวโมคอคคัส ทำให้เกิดอาการอะไรได้บ้าง
อาการของการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมีได้หลายอย่างขึ้นกับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ หากเป็นโรคปอดอักเสบ มักจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หากมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก และอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยก็จะมีอาการไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว อาจมีภาวะช็อค และอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังสามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้อีกหลายชนิด เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ 


โรคไอพีดี รักษาได้หรือไม่
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไอพีดีได้โดยจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วยและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาว (เม็ดเลือดขาวมักจะมีจำนวนมากกว่าปกติ) การเพาะเชื้อในน้ำไขสันหลังหรือเลือด เพื่อช่วยยืนยันว่าอาการของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสจริง เมื่อตรวจพบเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแล้ว แพทย์จะทำการให้ยาต้านจุลชีพในขนาดที่เหมาะสมกับโรคและอาการ 


การป้องกันโรคไอพีดี
ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อยๆ ในผู้ที่มีอาการไข้ ไอ ควรปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม ควรสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ เช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ หรือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม


วัคซีนไอพีดี
โดยส่วนมากนำให้ฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยเริ่มฉีดได้เมื่ออายุตั้งแต่ 2 เดือน ขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุ 4 เดือน และ 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งในช่วงอายุ 12-15 เดือน นอกจากนี้แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส เช่น เด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม ธาลัสซีเมีย โรคเรื้อรังของอวัยวะต่างๆ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เบาหวาน เป็นต้น